เผยการอธิบายความหมาย ของพฤติกรรมแปลกที่ลูกของเราแสดงออก

0
1282

การเลี้ยงเด็กนั้นไม่ใช่เรื่องยากแต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะการทำความเข้าใจเรื่องของพฤติกรรมต่างๆ ที่บางครั้งการกระทำของเด็กๆ ก็เป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมายของพ่อแม่ และอาจทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ในภายหลัง

พฤติกรรมแปลกประหลาดของเด็กๆ ที่พ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่อาจไม่เคยเรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจในพฤติกรรมเหล่านี้ เพราะเป็นพฤติกรรมที่ดูไม่มีเหตุผลหรือที่มาที่ไป แต่ความจริงแล้วสามารถบอกอะไรได้หลายอย่างเลย

การหยุดหายใจในระหว่างที่กำลังร้องไห้หรือโวยวายอยู่ พ่อแม่อาจมองว่าเป็นพฤติกรรมที่เกิดจากการทำตัวต่อต้าน แต่จริงๆ แล้วมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เป็นผลจากความโกรธ เครียด หงุดหงิด เสียใจ หรือช็อค และมักจะเกิดขึ้นกับเด็กอายุราว 4-5 ขวบ และไม่ใช่สิ่งที่เป็นอันตรายแต่อย่างใด เมื่อพวกเขาโตขึ้นก็จะหายได้เอง

การถอดเสื้อผ้าทิ้งไปในสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสม เด็กๆ นั้นไม่ได้มีความรู้สึกเขินอายเหมือนผู้ใหญ่ ดังนั้นการถอดเสื้อผ้าในที่สาธารณะจึงถูกมองเป็นเรื่องปกติที่สามารถทำได้ อาจเกิดจากความรู้สึกร้อนหรือไม่สบายตัวเท่านั้นเอง

การดื่มน้ำในอ่างอาบน้ำ สระว่ายน้ำ หรือภาชนะที่ไม่ควรดื่ม เด็กที่ยังเล็กมากๆ นั้นไม่เข้าใจความแตกต่างของน้ำดื่มและน้ำจากแหล่งอื่นๆ พวกเขาจึงเข้าใจผิดคิดว่าเป็นน้ำที่สามารถดื่มได้ พ่อแม่จึงควรช่วยสอนและเฝ้าดูอยู่เสมอ

เด็กบางคนอาจลุกขึ้นมาเอาศีรษะโขกกับเปล ที่นอน หมอน หรืออุปกรณ์ต่างๆ รอบตัวในระหว่างที่กำลังนอนหลับ ถึงแม้บางคนอาจจะเชื่อว่ามันเป็นความผิดปกติอย่างหนึ่ง แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็วิเคราะห์ว่ามันเป็นเพียงพฤติกรรมหนึ่งที่เด็กๆ ทำเพื่อปลอบตนเอง (self-soothing) เช่นเดียวกับการดูดนิ้วนั่นเอง

การเอาสิ่งแปลกปลอมยัดเข้าไปในอวัยวะต่างๆ เช่น จมูก หู หรือปาก เป็นพฤติกรรมที่พ่อแม่ควรระมัดระวังไม่ให้เกิดขึ้นเพราะอาจเป็นอันตรายได้ แต่มันก็เป็นพฤติกรรมที่เกิดจากการทดลองตามธรรมชาติของเด็กๆ เท่านั้นเอง

การกินสิ่งที่ไม่น่ากินอย่างเช่นดินโคลนหรือขี้มูกของตนเอง เป็นรูปแบบหนึ่งของการเรียนรู้และทดลองสิ่งต่างๆ รอบตัวเช่นกัน เพราะเด็กๆ นั้นยังไม่เข้าใจเรื่องสุขอนามัยหรือความปลอดภัยเหมือนกับผู้ใหญ่

การดึงหรือกระชากเส้นผมที่เกิดขึ้นกับเด็กทุกช่วงวัย สำหรับเด็กอายุไม่เกิน 2 ขวบอาจเกิดจากเล่นสนุกเพราะความเบื่อหน่าย ในเด็กอายุ 3 ขวบเกิดขึ้นเพราะพ่อแม่มีปฏิกิริยาตอบโต้หรือหันมาสนใจเมื่อพวกเขาแสดงพฤติกรรมเหล่านั้น จึงถูกนำมาใช้เป็นวิธีการเรียกร้องความสนใจ ส่วนในเด็กที่โตกว่านั้นอาจเกิดจากโรคสมาธิสั้นหรือ ADHD

การที่เด็กๆ มักขอให้อ่านนิทานหรือหนังสือเรื่องเดิมก่อนนอนนั้นเป็นเพราะพวกเขาจะรู้สึกสงบและผ่อนคลายจากความแน่นอนที่เกิดขึ้น นั่นก็คือการที่พวกเขารู้ว่าพ่อแม่จะมาอ่านหนังสือให้ฟังก่อนนอนเสมอ และรู้ว่าเรื่องราวจะดำเนินไปอย่างไรและจบลงอย่างไร จึงทำให้เกิดความรู้สึกสงบ ผ่อนคลาย และสบายใจ ซึ่งทำให้นอนหลับฝันดี

ที่มา: brightside