12 ความจริงน่ารู้เกี่ยวกับเชอร์ล็อค โฮล์มส์ ยอดนักสืบที่เป็นตำนานทั้งในและนอกจอ

0
1545

ถ้าพูดถึงตัวละครที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด หนึ่งในชื่อที่หลายคนนึกถึงก็คงเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก เชอร์ล็อค โฮล์มส์ สุดยอดนักสืบที่ปรากฏตัวทั้งในหนังสือ การ์ตูน ภาพยนตร์ และซีรีส์หลายเรื่อง จนกลายเป็นอีกหนึ่งตำนานไปแล้ว

ถึงแม้คนส่วนใหญ่จะรู้จัก เชอร์ล็อค โฮล์มส์ กันดีอยู่แล้ว ในฐานะตัวละครนักสืบที่เก่งกาจ แต่ก็ยังมีอีกหลากหลายเรื่องราวที่อาจจะยังไม่เคยทราบ ว่าความจริงแล้ว เชอร์ล็อค โฮล์มส์ นั้นเป็นตัวละครที่มีที่มาที่ไปอย่างไรกันแน่

เชอร์ล็อค โฮล์มส์ เกือบจะไม่ได้มีชื่อว่าเชอร์ล็อค ในตอนแรก เซอร์ อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ ตั้งชื่อให้กับตัวละครของเขาว่า เชอร์รินฟอร์ด (Sherrinford) และชื่อทั้งสองอาจจะมาจากชื่อของนักกีฬาคริกเกตที่โด่งดังของนอตทิงแฮม

ส่วนจอห์น วอตสัน หรือหมอวอตสัน ก็เกือบจะมีชื่อว่า Ormand Stacker ซึ่งกระดาษโน๊ตที่จดชื่อเดิมของตัวละครทั้งสองเอาไว้ก็ถูกจัดแสดงใน Museum of London อีกด้วย

เซอร์ อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ ชื่นชอบและประทับใจในตัว Dr. Joseph Bell ศัลยแพทย์และศาสตราจารย์ชาวสก็อตที่โรงเรียนแพทย์ของมหาวิทยาลัยเอดินบะระในศตวรรษที่ 19 ที่สามารถวิเคราะห์โรคของผู้ป่วยได้ด้วยสายตา จึงเป็นแรงบันดาลใจให้กับตัวละคร เชอร์ล็อค โฮล์มส์ ที่ใช้สายตาของเขาในการสืบหาความจริง

กว่าจะมาเป็นนิยายที่ประสบความสำเร็จที่สุดชุดหนึ่งของโลกอย่างทุกวันนี้ เซอร์ อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ ถูกปฏิเสธจากหลายสำนักพิมพ์ จนสุดท้ายได้ตีพิมพ์ใน Beeton’s Christmas Annual แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก

เชอร์ล็อค โฮล์มส์ เป็นตัวละครที่เป็นมนุษย์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เป็นตัวละครที่ปรากฏตัวในภาพยนตร์มากกว่า 226 เรื่อง ส่วนตัวละครที่ครองตำแหน่งอันดับหนึ่งในทุกหมวดหมู่คือแดรกคูลา 239 เรื่อง

ภาพยนตร์เรื่องแรกที่นำเรื่องราวของ เชอร์ล็อค โฮล์มส์ ไปถ่ายทอด ก็คือภาพยนตร์เรื่อง Sherlock Holmes Baffled ภาพยนตร์เงียบที่สร้างขึ้นในปี 1900

เชอร์ล็อค โฮล์มส์ ไม่เคยพูดคำว่า “Elementary, my dear Watson” แม้เขาจะพูดคำว่า elementary และ my dear Watson หลายครั้ง แต่ก็ไม่เคยเอามาพูดต่อกันอย่างที่หลายคนเข้าใจ

ไมครอฟต์ โฮมส์ (Mycroft Holmes) อาจจะมีบทบาทที่น่าสนใจในซีรีส์หรือภาพยนตร์หลายเรื่อง แต่ในต้นฉบับเขาปรากฏตัวแค่สองครั้งคือในตอน The Greek Interpreter และ The Bruce-Partington Plans

สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียเป็นแฟนคลับของเชอร์ล็อค ใน The Bruce-Partington Plans เชอร์ล็อคได้ถูกเชิญไปที่พระราชวังวินด์เซอร์เพื่อพบกับสมเด็จพระราชินีและได้รับของขวัญเป็นเข็มมรกต

หลังจากเขียนเรื่องราวการผจญภัยของเชอร์ล็อค โฮล์มส์ ได้สองปี เซอร์ อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ ก็รู้สึกเบื่อหน่ายและเคยคิดที่จะสังหารตัวละครนี้ทิ้งเพราะการเขียนเรื่องนี้ทำให้เขาคิดเรื่องอื่นไม่ได้เลย

Sherlock Holmes Museum ไม่ได้ตั้งอยู่ที่ 221B Baker Street แต่ความจริงแล้วตั้งอยู่บนเลขที่ 239

ชายคนหนึ่งชื่อ John Radford ได้ประเมินไอคิวของ เชอร์ล็อค โฮล์มส์ ในหนังสือชื่อว่า The Intelligence of Sherlock Holmes and other Three-Pipe Problems และคาดว่าเขาน่าจะมีไอคิวสูงกว่า 190

ที่มา: yours